รู้ทันเรื่อง…..ข้อเสื่อม & กระดูกพรุน

โรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) ส่วนมากพบอาการกับข้อใหญ่ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวมาก หรือข้อที่ รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่บุปลายกระดูกข้อ เป็นเหตุให้ผิวของกระดูกอ่อนเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมัน กลายเป็นผิวขรุขระ เป็นผลให้การเคลื่อนไหวของข้อมีการติดขัดและเสียไป การเสื่อมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา

การป้องกันและรักษาโรคข้อเสื่อมโดยไม่ใช้ยา

ถ้าอ้วน หรือน้ำหนักเกิน ให้ลดน้ำหนักลง เพราะน้ำหนักที่เกินทำให้ข้อรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นและเสื่อมเร็วขึ้น ลดการทำงาน หรือการรับน้ำหนักของข้อ หลีกเลี่ยงการกระโดด คุกเข่า การนั่งพับเพียบ งดการยกของหนัก บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงเสมอ เช่น การนั่ง หรือนอน ยกหรือขยับข้อเข่า ข้อสะโพกให้มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลา 20-30 นาทีทุกวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ การว่ายน้ำ ถีบจักรยาน

โรคกระดูกพรุน กระดูกของคนเรามีหน้าที่สำคัญคือเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ รับน้ำหนักและแรงกดกระแทกต่างๆ เมื่อใช้ไปนานๆ ก็มีการผุกร่อน กระดูกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อผิวกระดูกเริ่มเก่า ร่างกายจะผลิตตัวสลายกระดูก ส่งตรงมายังผิวกระดูกเก่าเพื่อย่อยสลาย จากนั้นร่างกายจะผลิตตัวสร้างเนื้อกระดูก โดยดึงแคลเซียมจากการะแสเลือดเข้ามาเสริมเพื่อให้กระดูกใหม่แข็งแรงฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นตัวควบคุมให้ตัวสลายและตัวสร้างกระดูกทำงานอย่างสมดุล แต่เมื่อเข้าวัยหมดฮอร์โมน ตัวสลายจะทำงานเร็วกว่าตัวสร้างหลายเท่า จนเนื้อกระดูกเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ และเข้าสู่สภาวะกระดูกพรุน

แคลเซียมนั้นสำคัญไฉน

แคลเซียม เป็นแร่ธาตุสำคัญในกระดูกและฟัน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการสร้างฮอร์โมน และเอนไซม์ เพื่อให้ร่างกายทำงานปกติ ในแต่ละวันร่างกายต้องได้แคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ ผู้ชายและผู้หญิงสูงอายุต้องการแคลเซียมประมาณวันละ 1000 – 1200 มิลลิกรัม แคลเซียมมีอยู่ในอาหารปริมาณต่างๆกัน แคลเซียมในนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส เนยแข็ง จะถูกดูดซึมได้ง่ายที่สุด ส่วนแคลเซียมจากกระดูกสัตว์ เช่น ที่พบในปลาเล็กปลาน้อย กะปิ ถูกดูดซึมได้ค่อนข้างดี ในขณะที่แคลเซียมในผัก เช่น เมล็ดงา ถั่วเหลือง ผักคะน้า มะเขือพวง ใบยอ ถูกดูดซึมได้ต่ำ เนื่องจากมีสารหลายชนิดรบกวนการดูดซึม

ยาแคลเซียม แบบเม็ด แคปซูล หรือแบบเม็ดฟู่ ต่างก็เป็นรูปแบบยาที่ทำขึ้นให้แตกต่างกัน เพื่อให้สะดวกแก่การกิน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดเมื่อเลือกซื้อควรทราบว่าตัวยาแคลเซียมนั้นอยู่ในรูปเกลืออะไร ปริมาณเท่าไร และให้แคลเซียมปริมาณเท่าไรหากรับประทานแคลเซียมเสริมมากเกินไป อาจทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงมากกระทั่งเกิดพิษจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต หรือกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อ เกิดอาการท้องผูก คลื่นไส้ มึนงง ปัสสาวะมาก หัวใจเต้นผิดปกติ ดังนั้นในการรับประทานแคลเซียมเสริมนั้นต้องรับประทานแต่พอดีไม่มากเกินไป

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)